วันนี้ (27 เมษายน 2566) เกษตรจังหวัดพิษณุโลก เผยการรณรงค์ ‘ลดเผา’ ทำเกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำ ‘ฟางอัดก้อน’ ขาย ในโครงการ ‘บางระกำโมเดล’ กว่า 15 ล้านบาท ในเวลา 1 เดือน ขณะที่ทั้งจังหวัดขายนับ 100 ล้านบาท พร้อมลดจุด Hotspot รักษ์โลกร้อนได้มากขึ้น
นายมนัส เสียงก้อง เกษตรจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้รณรงค์ ‘ฟางทองคำ’ ที่ทุ่งบางระกำโมเดล เพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่า ‘ฟางข้าว’ และลดพื้นที่การเผาพื้นที่การเกษตร โดยมีการกระตุ้นการทำฟางทองคำ โดยภาครัฐบริหารจัดการดูแลด้านการตลาดการขายฝาก พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่ปลูกข้าว และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจค้าฟางข้าวระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่บางระกำโมเดล
โดย จ.พิษณุโลก มีพื้นที่การปลูกข้าวในพื้นที่บางระกำโมเดล ประมาณ 160,000 ไร่ต่อปี พื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ มีปริมาณฟางข้าวและตอซัง อัดได้จำนวน 25 ก้อนต่อไร่ ฟางอัดราคาก้อนละ 18 บาท โดยเฉลี่ยไร่ละ 450 บาท จากพื้นที่การปลูกข้าวทั้งหมดจะมีฟางข้าวมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
โดยพื้นที่ อ.บางระกำ ที่ผ่านมาสามารถทำเงินได้ 15 ล้านบาท และสามารถลดจุด Hotspot ค่าความร้อน และ ฝุ่น PM 2.5 ได้มาก ซึ่งขณะนี้การเก็บเกี่ยวข้าวยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ปัจจุบันถ้ามีโรงเก็บฟางอัดแท่งจะสามารถเพิ่มปริมาณฟางอัดแท่งได้อีกเท่าตัว โดยนำฟางมาใช้ประโยชน์ในการเป็นอาหารสัตว์และดูแลพื้นที่การเกษตร
ที่ผ่านมาเกษตรกรมักใช้วิธี ‘เผาตอซังข้าว’ จึงทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม ซึ่ง จ.พิษณุโลก ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้ สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก สำนักเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา สร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผา เพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน
และหลังจากทำโครงการอัดฟางทุ่งบางระกำโมเดล ผลรายงานเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 พบว่าพื้นที่ อ.เมืองพิษณุโลก มีพื้นที่ทำนา 24,764 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 24,764 ไร่ ทำฟางอัด 30 ไร่ คิดรายได้ 13,500 บาท
อ.บางระกำ มีพื้นที่ทำนา 37,766 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้วทั้งหมด มีจำนวนพื้นที่อัดฟาง 13,782 ไร่ คิดรายได้ 6,201,900 บาท
อ.พรหมพิราม พื้นที่ทำนา 106,914 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 106,784 ไร่ คงเหลือรอการเก็บเกี่ยว 130 ไร่ จำนวนพื้นที่ทำฟางอัดก้อน 19,000 ไร่ คิดเป็นเงิน 8,550,000 บาท
และ อ.วัดโบสถ์ พื้นที่ทำนา 910 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้วทั้งหมด พื้นที่ร่วมทำฟางอัดก้อน 910 ไร่ คิดเป็นเงินรายได้ 409,500 บาท
รวมทั้ง 4 อำเภอ ‘บางระกำโมเดล’ ช่วงเดือนนี้สามารถรายได้จากฟางอัดก้อนรวมกว่า 15,174,900 บาท อย่างไรก็ตามจังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่การทำนากว่า 7 แสนไร่ หากเกษตรกรร่วมใจกันงดเผาแล้วหันมาทำฟางอัดก้อนขายก็จะทำให้เกษตรกรทั้งจังหวัดพิษณุโลกมีเงินเข้ากระเป๋ากว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว
ข่าวโดย มงคลเชาวราช ทั่งมั่งมี จ.พิษณุโลก
เรียบเรียงโดย กรุงเทพธุรกิจ